เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ดี
วันคืนที่ผันผ่าน
วันเวลาผ่านรวดเร็ว กายจิตแปรเปลี่ยนไปตามกาล จากเด็กตัวน้อย ๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาว บางคนแทบจะจำไม่ได้ ด้วยหน้าตาที่เปลี่ยนไปตามวัย สวยหล่อกันถ้วนหน้า ภาพในอดีตวัยเด็กของศิษย์หลาย ๆ คน เป็นแค่ภาพความทรงจำที่ยากจะลืม ถึงจะโตเป็นหนุ่มสาวแค่ไหน แต่ทำไมดูเหมือนว่าศิษย์ยังเป็นเด็กกันอยู่ทุกคน คงจะเป็นจริงในคำกล่าวดั้งเดิมที่ว่า “ผู้สูงวัยกว่า มองลูกหลานเป็นเด็กเสมอในสายตา” ครูนัยย่างก้าวเข้าสู่วัย 42
สังขารแปรเปลี่ยน ตามวันเวลา เส้นผมเริ่มขาว หน้าตามีริ้วรอย เรี่ยวแรงหดถดถอย หน้ามืดตามัวในวันที่อากาศแปรเปลี่ยน ทำให้หวนคิด อดีต ปัจจุบัน อนาคต ช่วงเวลา 22 ปีที่สอนหนังสือ ศิษย์รุ่นแรก ๆ โตเป็นหนุ่มสาว มีครอบครัว บางคนมีลูกอยู่ ม.1 ทันใช้งาน น่าอิจฉาเสียจริง ๆ เด็กเล็ก ๆที่เคยอุ้มมากับมือตั้งแต่แบเบาะ ตอนนี้เป็นหนุ่มสาวหล่อสวย เรียนอยู่ ม.ปลายกันหมดแล้ว จิตลึก ๆ อยากมีลูกเป็นของตัวเอง เมื่อเห็นผลิตผลแห่งชีวิตที่เติบโตแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ลูกเป็นเพื่อนยามเหงาในวันที่จิตหวิว ลูกเป็นพันธะสัญญาทางใจ ลูกเป็นของขวัญอันประเสริฐ ที่เราให้ความรักโดยมิหวังผลตอบแทนใด ๆ ได้สื่อสารภาษาใจที่ใครคนอื่นยากที่จะรับรู้นอกจากลูกและพ่อแม่ด้วยกันเอง
เด็กยุคไอโฟน
เด็กยุคไอโฟนที่เจอบ่อยไม่ค่อยอ่านหนังสือ การบ้านทำบ้างไม่ทำบ้าง ค้างส่งงาน คะแนนเก็บดูไม่มีค่า ครูสั่งก็สั่งไป ตกก็ซ่อมใหม่จนกว่าครูจะให้ผ่าน ว่างตลอดเวลาที่จะมาสอบซ่อม ขออย่างเดียวอย่าให้อ่านหนังสือ ให้ทำไรได้ท้างนั้น กวาดห้องพักครู ขัดถูทำความสะอาดทุกซอกมุมโรงเรียนทำได้ สื่อล่อใจให้เบี่ยงเบนเส้นทางเรียนหนังสือเยอะเต็มไปหมด เมื่อก่อนหนีครูไปเล่นเกมส์ที่ร้านเกมส์ เดี่ยวนี้ไม่ต้องหนีหละ เกมส์อยู่ในมือถือ หยิบง่ายสะดวกเล่น ออนไลน์เล่นกันหนุกหนานได้ทุกที่ทุกเวลาทั่วโลก ครูต้องคอยเตือนจนปากเปียกปากแฉะ ความรู้จะเข้าหัวก็ต่อเมื่อตั้งใจเรียน ครูใจดีปล่อยปละละเลยพาลพาไม่สนใจการเรียน ศิษย์คุยจ้ออื้ออึงเหมือนผึ้นแตกรัง รบกวนเพื่อนที่เรียน เอามือถือมากดในเวลาเรียน เป็นซะอย่างนี้ตั้งแต่ 3 จีเป็นที่นิยม ศิษย์บางคนตักเตือนไปก็เพิกเฉย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาทำเหมือนว่าไม่เกิดไรขึ้น เด็กยุค 3 จีครับ ถ้า 4 จี 5 จี ใช้งานได้จริงจะขนาดไหน ครูจึงต้องเนี๊ยบ เฉียบ คม ศิษย์จึงจะยำเกรง กลายเป็นว่า งานสอนเป็นงานธรรมดา แต่งานที่หนักกว่าคือการดึงสมาธิศิษย์มาสู่เนื้อหาที่เรียน ผมไม่สามารถจริง ๆ ที่จะสอนโดยปล่อยให้ศิษย์นั่งเฉย ๆ โดยไม่สนใจในสิ่งที่สอน งานสอนไม่ยากแต่งานด้านการดึงสมาธิให้สนใจ ตรงนี้ยากกว่าหลายเท่าตัว ความสำเร็จในการสอนจึงกลายเป็นว่า ครูต้องมีจิตวิทยาสูงที่จะดึงสติ สัมปชัญญะของศิษย์ กลับคืนสู่การสนใจในบทเรียน
ครูเป็นดั่งเรือจ้าง
ครูในยุค 3 จี จึงต้องมีบทบาทหลากหลาย เป็นได้ทั้งพ่อ แม่ พี่ เพื่อน สุดท้ายสำคัญที่สุดคือการเป็นครูสอนศิษย์ ต้องพายเรือส่งศิษย์ถึงฝั่งฝัน เพื่ออนาคต ใช่ว่ามาเจอกันเพื่อความบันเทิง ซึ่งจะหาความก้าวหน้าไม่ได้ทั้งครูและศิษย์ ศิษย์บางคนกระโดดจากเรือไปซะก่อนที่จะถึงฝั่ง ลอยคออ้างว้างท่ามกลางสายน้ำที่ไหลเชี่ยว คาดหวังรอเรือลำใหม่ที่คิดว่าดีกว่ามารับ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรือลำนั้นเชี่ยวชาญที่จะส่งถึงฝั่งหรือไม่ ครูเป็นดั่งเรือจ้าง โบราณว่าไว้ไม่มีผิดครับ จิตผูกพันธ์ศิษย์เพราะสอนตั้งแต่เล็กยันโต การเลี้ยงให้เติบโตทางกายไม่ยากครับกินอาหารตามหลักโภชนาการก็โตได้ดังหวัง แต่การสอนให้มีความคิดความอ่านเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง กว่าที่รากฐานทางความคิดจะมั่นคงแข็งแรง ต้องใช้เวลา ผ่านครู ผ่านการเรียนรู้ ผ่านอุปสรรคนานัปการการลงเรือลำใหม่ที่คาดว่าดีกว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่ง แต่ที่เจอบ่อย คลื่นลมด้านนอกโหมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง ที่ถึงฝั่งฝันเพราะมีพ่อแม่เป็นหางเสือเรืออย่างใกล้ชิดจึงรอดได้หรือเด็กมีความรับผิดชอบดีเยี่ยม ส่วนมากไปจบที่ศูนย์การค้า พึ่งยาเสพติดข้างอาคารเรียน หนีเที่ยวกับเพื่อน ทำตัวเนียนเสมือนหนึ่งไปเรียนทุกวัน แต่ไม่เคยเข้าห้องเรียน ปัญหาซ้ำซาก เกิดแล้วเกิดอีก การไปเรียนพิเศษในเมือง ต้องมั่นใจว่าลูกเข้าห้องเรียนจริง ลูกเรามีความรับผิดชอบสูง ถ้าไม่มั่นใจอย่าส่งไปเพราะเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ความรู้ก็ไม่ได้ โดนหลายเด้ง บ้างลูกก็เสียคนไป เวลาที่ผ่านไปไม่สามารถย้อนกลับมาได้ การตัดสินใจจึงจำเป็นต้องพิจารณาถี่ถ้วน เด็กก็คือเด็ก ความรอบคอบมีน้อยกว่า ติดเพื่อนเป็นหลัก ได้เพื่อนดีก็ดีไป แต่ถ้าตรงข้ามผู้ปกครองต้องตามแก้ปัญหา
ศิษย์คนหนึ่งเรียนหมอจบหละครับ เป็นเด็กโรงเรียนเตรียมน้อมฯ ไม่เคยเรียนพิเศษที่ไหนนอกจากบ้านครูนัย แล้วแต่ครูนัยจัดครูให้ ผมถามพ่อศิษย์ว่า “ทำไมไม่ไปเรียนแถววิสุทธานี หรือ ในเมืองหละ” เรียนบ้านครูนัยทุกวิชาแพงหนะ เพราะต้นทุนเราสูง เด็กเราไม่ได้เยอะ ท่านตอบว่า “กลัวลูกเสียคน” ซึ่งลูกชายเรียบร้อยมาก ไม่เกเร ความรับผิดชอบสูงมาก การเรียนเป็นเบอร์หนึ่งของห้อง ฟิสิกส์เอ็นทรานส์ได้ 97 เต็มร้อย ส่งไปเรียนในเมืองยังไงก็ไม่เสียคน ผมคอนเฟิร์มล้านเปอร์เซ็น แต่ท่านก็ยืนยันไม่ส่งไปเรียนในเมือง ตัวผมเองตั้งใจให้ท่านประหยัดเงิน พอเด็กสอบแพทย์พระมงกุฏได้ผ่านทุกรอบแล้ว ลูกบอกพ่อว่า “ขอไปเรียนที่วิสุทธานีหนะจะไปกับเพื่อน” คุณพ่อจึงให้ไปเรียนเพื่อจะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องกลัวเสียคนแล้ว เพราะเด็กสอบตรงติดหมอก่อนจะไปเรียนพิเศษในเมืองที่มีคนพลุกพล่าน ตอนนี้ทำงานแล้วครับ ยังพูดคุยติดต่อกับผมอยู่จนถึงทุกวันนี้ สอนพี่ชายเขามาก่อนตั้งแต่ ม.ต้น ยันเข้ามหาวิทยาลัย เป็นกรณีศึกษาครับ
ลูกคือทุกสิ่งอย่างของพ่อแม่
ลูกเป็นทรัพยากรบุคคลอันล้ำค่าที่สืบทอดความเป็นอัตลักษณ์ของพ่อแม่ “มีความรู้เหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน” การลงทุนในการให้ความรู้จึงเป็นเรื่องหลัก บางท่านเห็นว่าลูกไม่อ่านหนังสือ ส่งเรียนพิเศษ ไม่เกิดผลใด ๆ เรียนไปก็เท่านั้น เปลืองตังค์ปล่าว ๆ
“มาตรวัดความฉลาดอาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ศิษย์รู้” จะมีเพียงแค่การสอบเท่านั้นหรือที่จะประเมินว่าศิษย์เป็นคนฉลาด คุณธรรม ความมีวินัย ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา การมองโลกในแง่บวก การปรับตัวเข้ากับเพื่อน คือสิ่งที่ศิษย์ได้เรียนรู้ แต่ไม่มีมาตรวัดทางสติปัญญาที่ชัดเจน ในกรณีของ สตีฟ จ๊อบ , เจ้าสัวธนินท์แห่งค่ายซีพี และอีกหลาย ๆ ท่านซึ่งผ่านรั้วสถานศึกษาที่เป็นทางการน้อย แต่สำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิต สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันที่พอสังเกตุได้ในบุคคลข้างต้นคือ “การที่ไม่ละความฝัน ยืนหยัดในเป้าหมาย ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง” หากประยุกต์ในการเรียนการสอนก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า จะมีสักกี่คนที่ทำ บุคคลที่เห็นความสำคัญก็ไปถึงเป้าหมายโดยเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีความฝัน ยืนหยัดในเป้าหมาย ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
บทเรียนที่สอนไปถ้าได้ทบทวนด้วยตัวเอง ทำตามที่ครูสอน ถึงฝั่งฝันทุกคนครับ ความรู้ผมเชื่อว่าศิษย์มีอยู่ แต่การที่จะดึงมาใช้ให้คล่องแคล่ว อันนี้ศิษย์เองต้องหมั่นฝึกฝนเฉกเช่นนักกีฬา เราไปฝากคนอื่นฝึกไม่ได้ แข่งเองต้องฝึกเอง ลงมือลงแรง จดจำทักษะ ครูเป็นแค่ผู้ชี้แนะแนวทาง กระบวนการทางความคิดในการประมวลผล ศิษย์ต้องลงมือทำ
การลงทุนสำหรับลูก
1. ลงทุนในการศึกษา มีเงินหรือไม่มีเงินก็ต้องขวนขวายหามา เพื่อการไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาความคิด การอ่านออกเขียนได้ของลูก ทรัพย์สินอื่นเช่น ผ่อนรถ บ้าน ที่ดิน ทำได้ แต่พอการศึกษาตัดสินใจยาก คิดแล้วคิดอีก ไม่อยากจะจ่าย กลายเป็นว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย คุณค่าทางการศึกษามิได้ออกดอกออกผลเร็วทันใจเหมือน ผ่อนบ้าน รถ ที่ดิน หรือ ทรัพย์สินอื่นซึ่งเราใช้สอยประโยชน์ได้ทันทีที่เป็นเจ้าของ เห็นผลชัดเจนทันตา บุคคลใกล้ตัวที่พอจะเห็นได้คือ คุณพ่อครูนัยอาชีพทำสวนทำนา จบ ป.6 คุณแม่ไม่จบ ป.1 เพราะต้องช่วยยายทำนาทำสวนเลี้ยงน้อง ( ปีพ.ศ.2556 คุณแม่ครูนัยอายุ 80 ปี) ในสมัยที่ครูนัยเล็ก ๆ คุณพ่อต้องขายที่สวน 20 ไร่ เป็นสวนยางพร้อมกรีดยาง เพื่อส่งลูกเรียน ในสมัยทองบาทละ 400 ได้เงิน 7,000 บาท (ราคาปัจจุบันไร่ละหลายแสนเพราะเป็นที่ดินติดถนนใหญ่ ขับรถไปหาดใหญ่ประมาณครึ่งชั่วโมง) ส่งลูกที่เกิดคลานตามกันมา 6 คน โดยมีผมเป็นคนสุดท้อง ลูก ๆเรียนหนังสือทุกคน พอลูกโต ความรู้ที่เรียนมา เริ่มออกดอกออกผล หาเงินได้มากกว่ามูลค่าทรัพย์ที่ขายไปในสมัยนั้น หลาน ๆ ในตระกูลก็เห็นคุณค่าการเรียน เงินลงทุนในการเรียนไม่เสียดายเพราะพ่อแม่ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ถ้าพ่อแม่มัวแต่ห่วงหวงทรัพย์ในสมัยทองบาทละ 400 ลูก ๆ ก็ไม่มีความรู้ติดตัว เพราะท่านมองการไกล ท่านเชื่อว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน ไม่มีเงินก็ต้องหามา การหยิบยืมเงินคุณอาข้างบ้านที่มีฐานะดีกว่าเป็นความเคยชินที่ผมเห็นเป็นประจำ พ่อแม่ทำงานหาเงิน 2 คน แต่ส่งลูกที่คลานตามกันมา 6 คน เป็นภาระที่หนักยิ่ง แต่ท่านก็เลี้ยงได้ หลาย ๆครอบครัวฐานะดี อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนฐานะปานกลาง เลี้ยงลูกหลายคน การส่งลูกเรียนต่อคือการตัดสินใจที่ต้องเสียสละ การให้ลูกออกมาทำนา ทำสวนทำไร่ ใช่เงินทองอาจเพิ่มพูนในเวลานั้นพ่อแม่เองไม่ต้องเหนื่อยมากเพราะมีลูกช่วยทำสวนทำไร่ แต่การใช้ชีวิตในภายภาคหน้าที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงนานัปการ ความรู้จึงไม่ต่างไปจากเกราะป้องกันตัว เมื่อมีภัยเข้ามา ทำให้ทันโลก ทันคน ทันเหตุการณ์ ทันสมัย ไม่ล้าหลัง การให้การศึกษาจึงเป็นเกราะป้องกันให้อยู่รอดได้
2. ให้ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมไปถึงให้เงินลงทุน (ถ้ามี) ถ้าไม่มีทรัพย์ ความรู้ในข้อ 1 จะไปต่อยอดเป็นทรัพย์สินอื่น ๆ ในภายหลัง “การมุ่งที่จะให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักโดยไม่สนใจที่จะให้การศึกษา” คงไม่ต่างไปจากเรือที่ไม่มีหางเสือ ซึ่งจะกำหนดทิศทางไม่ได้ ขาดทักษะ ความเชื่อมั่นทางความคิดในการต่อยอดการลงทุน ไม่มีความรู้ที่จะสอนลูกหลาน ท้ายสุดก็อาจจะได้ลูกหลานที่ไม่สนใจการเรียน เพราะมีต้นแบบให้เห็น คือลูกเราเองที่ตัวเราเองไม่สนับสนุนการศึกษา หรือปล่อยปละละเลย
มีตัวอย่างให้เห็นว่าสังคมที่ลูกอยู่มีส่วนผลักดันความล้มเหลวได้มากทีเดียว ผมมีศิษย์คนหนึ่งสมัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พ่อแม่ฐานะดีมาก ผมสอนได้ไม่กี่ครั้งเด็กก็หยุดเรียนไปเพราะบ่นว่าค่าเรียนแพง ลูกเรียนโรงเรียนในสวนน้ำบึงกุ่มตั้งแต่อนุบาลจนจบ ป.6 ผมถามว่าทำไมให้ลูกเรียนที่นี่ “ท่านบอกว่า การเรียนชั้นต้นไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ เปลืองเงินเปลืองทองเปล่า ๆ เอาใกล้บ้านนี่แหละง่ายดี ไม่ต้องรับส่ง ปั่นจักรยาน มาเรียนได้เลย” ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านเองจบการศึกษาสูง ทำงานทำการดี ลูกชายของท่านเกเรมากติดเพื่อนมาก ไม่เรียนหนังสือเพราะรู้กันอยู่ว่าสังคมเป็นอย่างไร ใช่ว่าโรงเรียนไม่ดีแต่สังคมรอบกายเด็กเราต้องหาให้เด็กด้วย เด็กมีการเรียนรู้และลอกเลียนแบบจากเพื่อน ๆ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ โรงเรียนจึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการคิดการอ่านของเด็ก เพราะมีองค์ประกอบของเพี่อน ๆ ที่ศิษย์คบหา เด็กถูกส่งต่อไปเรียนโรงเรียนประจำนานาชาติทางภาคเหนือในชั้น ม.ต้น แต่เด็กเรียนไม่ได้เพราะไม่มีความรู้จะไปต่อยอด สุดท้ายออกกลางคัน ไม่จบ ม.3 เดินเตะฝุ่น ไร้ทิศทาง ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่มีเงินมีทอง เป็นเจ้าของธุรกิจ บ้านช่องใหญ่โต มัวแต่มุ่งที่จะหาทรัพสินย์โดยไม่สนใจที่จะลงทุนการศึกษา เจอผมเมื่อปีที่ผ่านมา (2555) ท่านบอกว่าลูกชายเกเรมาก ไม่สนใจเรียน ผมคิดในใจว่า “ก็โทษแต่ลูกไม่ดูตัวเราเองบ้างว่า เราจัดการ เราลงทุนให้ลูกในการศึกษามากแค่ไหน” เด็กจะเก่งได้ต้องปลูกฝังแต่เด็ก ไม่แตกต่างไปจากต้นไม้พันธ์ดี ทนแดด ทนฝน ทนต้านแรงลมได้ ก็ต้องปลูกตั้งแต่เมล็ดเล็ก ๆ หยั่งรากแก้วหนาลึกลงสู่ดิน ดินจะดีก็ต้องค้นหา ใช่ว่าทุกที่จะปลูกพืชได้เฉพาะบางที่ ด้านบนดูดีแต่หยั่งรากแก้วลงไปกลับกลายเป็นหินทั้งนั้น การสอนคนก็ไม่ต่างกัน โรงเรียน ครู เพื่อน มีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงการพัฒนาทัศนคติต่าง ๆ เช่น การมองโลก การต่อสู้ปัญหา ภาวะจิตเชิงบวก สิ่งเหล่านี้โดยมากเป็นการเรียนรู้ทางอ้อมผ่าน ครู โรงเรียน เพื่อน ครอบครัว สถาบันต่าง ๆ ในสังคม
ค่าเรียนแพง
ผมสอนมา 22 ปีส่วนใหญ่ก็บ่นว่าค่าเรียนแพง คำนี้เป็นคำยอดฮิตติดหูมาตั้งแต่เริ่มสอนครับ ผมรับเด็กได้ในปริมาณจำกัด ถ้าเกินก็ไม่รับไว้ ซึ่งก็จะบอกศิษย์อยู่แล้วว่า รับศิษย์ใหม่มา ครูดูแลไม่ทัน ได้เงินเขามาแต่เราไม่สามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างเต็มที่ ก็ไม่รับมาเป็นศิษย์ เพราะจะทำให้ไม่เกิดความก้าวหน้าทั้งครูและศิษย์
สอนก็คือสอน ไม่ได้รับเด็กมากองไว้เยอะ ๆ แล้วเก็บเงินได้มากมาย โดยปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ ความภูมิใจของครูที่รับเงินมาคือความก้าวหน้าที่ศิษย์เริ่มอ่านออกเขียนได้ พัฒนาความคิดความอ่าน การเป็นคนดีที่รับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัวและสังคม รวมไปถึงสอนเรื่องการปรับตัวตั้งแต่วัยเด็ก ไปสู่วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา ที่อื่นไม่สอนแต่ที่นี่สอน ถ้าไม่อยู่ในกรอบผมก็พร้อมที่จะบอกว่า ครูไม่สามารถพัฒนาหนูได้หนะเพราะหนูไม่เชื่อฟังครู ก็แจ้งผู้ปกครองไปพร้อมแก้ปัญหากันไป การปล่อยปละละเลยยากที่จะทำได้เพราะห่วงอนาคตศิษย์ แพงเพราะต้นทุนทางการศึกษาแพง แพงเพราะมูลค่า ที่ครูจะต้องทุ่มเทเอาใจใส่ ใช่ว่าแพงเพราะอยากได้เงิน เงินเป็นปัจจัยที่ให้อยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดคือรับเงินมาแล้วเราทำให้ได้ตามที่เราตั้งใจหรือเปล่า ผมเขียนบิลตามศักยภาพที่จะทุ่มเทลงไปในการพัฒนาศิษย์แต่ละคน แยกเป็นคน ๆ แตกต่างกันไป ให้เปรียบเทียบมูลค่าเฉกเช่นเพชรพลอย ภาพเขียนต่าง ๆ เราซื้อเพราะมูลค่าที่เราให้ เพชรพลอยเป็นแค่หินก้อนหนึ่งที่เราให้มูลค่า การสอนก็เช่นกัน มูลค่าและศักยภาพที่ใช้สอนแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เพราะการเรียนรู้ การรับรู้ของศิษย์ต่างกัน ลูกศิษย์ที่สอนอยู่ส่วนใหญ่แนะนำบอกต่อ บุคคลอื่นโดยมาก มาทักทายแล้วจากไป เนื่องจาก เค้าไม่ได้มองเราที่คุณค่า เพราะต่างก็ไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน การจะเห็นคุณค่าว่า เวลาเราสอนเราก็สอนหนะ ใช่ว่าเงินหนะอยากได้ แต่ไม่สนใจจะสอน จะอบรมบ่มนิสัย การจะมองเห็นตรงนี้ในความตรง ความจริงใจในการทำงาน ต้องเป็นคนคุ้นเคย ส่วนมากเป็นศิษย์แนะนำบอกต่อ บอกต่อแล้วค่อยจะมากัน ราคาดูเหมือนจะแพงแต่ จำกัดในเรื่องปริมาณเด็กที่รับได้จำกัด รายรับค่อนข้างใกล้เคียงกับรายจ่าย เหลือบ้างพัฒนาการเรียนการสอน สื่อต่าง ๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนทุกเทอม ดูเหมือนไม่ลงทุนอะไรนะครับ ต้องมาทำเองแล้วจะรู้ว่าวุ่นน่าดู ต้นทุนเยอะจุกจิก ถ้าไม่รักการสอนจริงส่วนมากปิดสถาบันทุกรายครับ โดยส่วนตัวไม่ได้หวังรวย แค่ทำงานแล้วเราอยู่ได้ มีความสุข มีเวลาอ่านหนังสือ สอนหนังสือ เล่นกีฬา ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แค่นี้พอใจครับ